อ.ส.ค.รุกใหญ่วางแผนทุ่ม 2,000 ล้านบาทพัฒนาพื้นที่ 2,700 ไร่ที่มวกเหล็กเป็นแหล่งท่องเที่ยวครบวงจร แนวคาวบอยซิตี จัดสรร 9 โซนทั้งลงทุนตั้งโรงงานนม ศูนย์การเรียนรู้ พักผ่อนและกิจการเชิงนิเวศ พร้อมดึงเอกชนเข้าร่วมธุรกิจเชิงพาณิชย์ หวังดันรายได้แตะหมื่นล้านบาทภายใน 5 "มิลค์บอร์ด"เผยเห็นชอบในหลักการแล้วรอพิจารณาแผนฉบับสมบูรณ์ก่อนไฟเขียว เดินหน้า
+แผนคาวบอยซิตี
นายนพดล ตันวิเชียร รองผู้อำนวยการทำการแทนผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ให้สัมภาษณ์ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้ อ.ส.ค.มีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี จำนวน 2,700 ไร่ ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวได้จัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มีผู้เข้า ชมปีละ 1,000 คนเศษ ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบครบวงจรในสไตล์คาวบอย ซิตี เพื่อให้องค์กรมีความหลากหลายทางธุรกิจ ภายใต้ชื่อ "โครงการจัดทำแผนพัฒนาการใช้ประโยชน์พื้นที่อ.ส.ค."
"โครงการดังกล่าวอยู่ในระหว่างการศึกษาและวางแบบโครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมนำเสนอต่อคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) ได้ภายใน 2 เดือนนับจากนี้ ซึ่งในเบื้องต้นคณะกรรมการเห็นชอบให้หลักการ หากโครงการดังกล่าวได้รับการอนุมัติก็จะสามารถเริ่มสร้างเฟสแรกได้ทันที ซึ่งไม่น่าจะเกินปีนี้ จากการพิจารณาในเบื้องต้นคาดว่าโครงการดังกล่าวจะมีมูลค่าราว 2,000 ล้านบาท ซึ่งอ.ส.ค.จะลงทุนส่วนหนึ่งและให้ภาคเอกชนลงทุนอีกส่วนหนึ่ง โดยในส่วนที่อ.ส.ค.จะลงทุนก็จะเป็นในส่วนของโรงงาน อาคารที่พักพนักงาน ฯลฯ คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท
+เปิดเอกชนร่วมทุน
นายนพดลกล่าวว่าส่วนที่เป็นเชิงพาณิชย์จะเปิดให้ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุน คาดว่าจะเปิดทีโออาร์ได้ภายในปีนี้ ทั้งนี้หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จอ.ส.ค.จะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 20-30% จากเดิมอ.ส.ค.มีรายได้จากส่วนนี้เพียง 5% เท่านั้น โดยผลการดำเนินการในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา อ.ส.ค.มียอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2553 มีรายได้ 6,000 ล้านบาทและปี 2554 คาดว่าจะสามารถทำรายได้ได้ถึง 6,500 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถทำรายได้สูงถึง 1 หมื่นล้านบาทภายในปี 2559
สำหรับแผนงานของโครงการในเบื้องต้น อ.ส.ค.จะทำการจัดสรรพื้นที่ทั้งหมดออกเป็น 9 โซน ในแต่ละโซนจะใช้พื้นที่ประมาณ 150-200 ไร่ รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,300-1,800 ไร่ ซึ่งในแต่ละโซนจะมีชื่อแตกต่างกัน
+จัดสรรพื้นที่ 9 โซน
โซนที่ 1 ทุ่งชีวา พื้นที่บริเวณนี้จะถูกจัดสรรให้เป็นส่วนของเชิงพาณิชย์ โซนที่ประกอบด้วย ร้านค้า รถพ่วงท่องเที่ยว ลานกิจกรรม จุดนัดพบ ฯลฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ติดถนนด้านสนามกอล์ฟ โดยร้านค้าต่างๆจะเรียงรายทั้ง 2 ฝั่งถนน
โซนที่ 2 ทุ่งอ่อนหวาน สำหรับในส่วนนี้ก็จะสอดคล้องกับทุ่งชีวาคือมีร้านค้าข้างทาง ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามสนามกอล์ฟของภาคเอกชน เหตุที่สร้างร้านค้าตลอด 2 ฝั่งถนนก็เพื่อดักนักท่องเที่ยวทั้งขาขึ้นและขาลง รวมทั้งร้านค้าและร้านอาหาร โดยในอนาคตจะมีโครงการทำถนนเชื่อมระหว่างโซนที่ 1 และโซนที่ 2
โซนที่ 3 ทุ่งยินดี ในส่วนนี้จะอยู่ด้านหลังโซนที่ 2 โดยจะจัดให้เป็นส่วนของอาคารสำนักงาน โรงงานผลิตนมยูเอชทีและนมผงแห่งใหม่ โดยใช้เงินลงทุนในส่วนของโรงงานรวมค่าอุปกรณ์ประมาณ 1,000 ล้านบาท กำลังการผลิตน้ำนมดิบในช่วง 2 ปีแรก 200 ตันต่อวัน หลังจาก 2 ปี คาดว่าจะสามารถผลิตน้ำนมดิบได้ถึง 400 ตันต่อวัน คิดเป็นนมผง 20-40 ตันต่อวัน นอกจากนี้ในพื้นที่ดังกล่าวจะพัฒนาให้เป็นพื้นที่สีเขียวด้วย
โซนที่ 4 ทุ่งสุขสันต์ พื้นที่ในส่วนนี้จะอยู่ถัดจากโซนที่ 3 เข้ามาโดยวางให้เป็นกลุ่มอาคารที่พักพนักงาน เกษตรกร บ้านพักผู้บริหารระดับสูง ร้านค้าสวัสดิการ โซนที่ 5 ทุ่งเสน่ห์ พื้นที่ในบริเวณนี้มีธรรมชาติที่สวยงามอาทิ น้ำตก ลำคลอง และติดกับสวนรุกขชาติมวกเหล็ก ซึ่งเหมาะแก่การสร้างที่พักอาศัย โดยลักษณะบ้านพักอาศัยที่จะสร้างจะเป็นสไตล์ดัตช์วิลเลจ ทั้งนี้บ้านพักอาศัยที่จะดำเนินการก่อสร้างนั้นคาดว่าจะเปิดให้บุคคลภายนอก เช่าในลักษณะเช่าระยะยาว
โซนที่ 6 ทุ่งประกาย โซนนี้จะอยู่ฝั่งตรงข้ามน้ำตกมวกเหล็ก ตั้งใจจะให้เป็นศูนย์การเรียนรู้แบบครบวงจร โดยจะทำการปรับปรุงโรงงานนมเดิมให้เป็นพิพิธภัณฑ์ความรู้ อ.ส.ค. พร้อมทั้งจะจัดบริเวณดังกล่าวให้อยู่ในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
โซนที่ 7 ทุ่งนิ่มนวล บริเวณนี้จะติดกับเขาตาแป้น ในส่วนนี้จะจัดทำเป็นเมืองคาวบอย และสร้างที่พักริมเชิงเขา ลานดนตรีกลางแจ้ง รวมถึงจัดให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวธรรมชาติเขาตาแป้น ซึ่งวางแผนเอาไว้ว่าจะให้พื้นที่ส่วนนี้เป็นสถานที่ที่รวมกิจกรรมด้านการ ท่องเที่ยวไว้ทั้งหมด โดยในอนาคตมีแผนที่จะจัดสร้างกระเช้าไฟฟ้า
โซนที่ 8 ทุ่งรักแรก โซนนี้จะติดกับโซนที่ 1 กับโซนที่ 7 จัดให้เป็นที่พักแรมชั่วคราว สถานีรถพ่วง ลานกิจกรรม กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สถานที่ตั้งแคมปิ้ง โซนที่ 9 ทุ่งความรัก พื้นที่ในบริเวณนี้จะถือเป็นไฮไลต์สำคัญของอ.ส.ค. เพราะในบริเวณดังกล่าวจะจัดสร้างลานประวัติศาสตร์ อาคารเฉลิมพระเกียรติ อาคารประวัติศาสตร์ตามรอยกิจการโคนม พร้อมกับจัดทำเป็นจุดชมวิวของอ.ส.ค.ด้วย
+มิลค์บอร์ดไฟเขียว
ด้าน นายปรีชา สมบูรณ์ประเสริฐ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะมิลค์บอร์ด กล่าวว่า ในเบื้องต้นคณะกรรมการ เห็นชอบในหลักการของโครงการดังกล่าว แต่ให้ทางอ.ส.ค.กลับไปจัดทำแผนพัฒนาให้เสร็จสมบูรณ์ เพื่อนำกลับมาเสนอบอร์ดใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะโครงการนี้จะช่วยสร้างรายได้ให้กับอ.ส.ค.และช่วยกระจายรายได้ให้กับคน ในพื้นที่
อนึ่ง ในปี 2551 อ.ส.ค.สามารถจัดสรรกำไรสุทธินำส่งเงินเป็นรายได้แผ่นดิน 97.30 ล้านบาท และจ่ายโบนัสแก่พนักงานและคณะกรรมการอีก 20 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการปี 2552-2553 มีกำไรเบื้องต้นปีละกว่า 500 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพและความแข็งแกร่งทางการเงิน ส่วนกรณีการล้มละลายของบริษัท นมไทย-เดนมาร์ค จำกัดโดยคำพิพากษาของศาลเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2554 นั้นไม่มีผลผูกพันกับอ.ส.ค.แต่อย่างใด และทุกวันนี้อ.ส.ค.ได้ทำตลาดผลิตภัณฑ์นมโคไทย-เดนมาร์ก หรือ "นมวัวแดง"ด้วยตนเองทั้งในไทยและต่างประเทศ
สำหรับแผนการตลาดของอ.ส.ค.ในปี 2554 จะมีการเปิดตัวร้านนมต้นแบบเพื่อจำหน่ายสินค้าทุกชนิดของอ.ส.ค. ซึ่งจะมีการพัฒนากระบวนการผลิตและปรับปรุงการบรรจุหีบห่อให้ดูทันสมัยขึ้น พร้อมเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่อาทิ นมเปรี้ยว นมพาสเจอไรซ์ โยเกิร์ต เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในด้านสุขภาพ
+ท่องเที่ยวขานรับ
นายอรรถพล วรรณกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานนครราชสีมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ตั้งแต่ มวกเหล็ก ปากช่อง เขาใหญ่ วังน้ำเขียว ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉลี่ยมีการขยายตัวปีละ 3-5% แต่ในปี 2554 คาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มสูงถึง 8% เนื่องจากปีนี้หนาวยาวนานกว่าทุกปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีการลงทุนสร้างโรงแรมและเปิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งธรรมชาติ เดินป่า ผจญภัย ขี่ม้า เที่ยวฟาร์มโคนม ชิมไวน์ ทัวร์เกษตร
อีโคทัวริซึม เป็นต้น
การที่อ.ส.ค.เข้ามาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ก็น่าจะเป็นการต่อยอดทางการ ท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ทั้งจากฟาร์มโชคชัย ไร่องุ่น พีบี วัลเล่ย์ ไร่องุ่นกราน-มอนเต้ ไร่ทองสมบูรณ์ คลับ ฯลฯ ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมาก หลังจากปีที่แล้วมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งแบบพักค้างคืนและนักทัศนาจร (ไม่พักค้างคืน) ประมาณ 4.8 ล้านคน มีห้องพักทั้งหมดประมาณ 6,000 ห้อง และ 95 % เป็นนักท่องเที่ยวคนไทย ที่มีทั้งกลุ่มตลาดครอบครัว คนรุ่นใหม่ สายพันธุ์ดิจิตอล รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีบ้านแห่งที่สองอยู่ที่นั่นอยู่แล้ว
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,637 22-25 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=68501:2700&catid=89:2009-02-08-11-24-05&Itemid=417
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|
ความคิดเห็น
ติดตามความเห็นนี้ในรูปแบบ RSS feeds