สมัยผมเป็นเด็ก แถวบ้านผมชาวบ้านผมบางส่วนยังเลี้ยงวัวเลี้ยงควายกันมาก บางครอบครัวก็มี 20-30 ตัว หรือมากกว่า หน้าบ้านผมจะมีคนเลี้ยงวัวควายต้อนวัวควายผ่านตอนเช้าและเย็นทุกวัน เดินกันเป็นขบวน รวมแล้วก็หลายสิบตัว มันอึกระจายตามรายทางเหม็นหึ่งไปหมด คนเลี้ยงบางคนจะสะพายย่ามกระสุนพร้อม "ก๋ง" ตามไปด้วย ก๋ง คือเครื่องยิงกระสุนดินแบบหนังสะติ๊ก แต่ทำด้วยไม้ไผ่เหมือนธนูเลย มีสายสองเส้นและมีกระเปาะสานด้วยหวายเล็กๆ เชื่อมตรงกลางระหว่างสายสองเส้น เป็นที่ใส่กระสุน ก๋งนี้ยิงได้ไกลกว่าหนังสะติ๊กมาก เขามีไว้ใช้ยิงวัวควายที่แตกฝูง หรือยิงนกก็ยังได้ พวกเขาเดินตามไปดูแลวัวควายของเขา ส่วนใหญ่ก็เป็นคนแก่ หรือเด็ก ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ หรือจบ ป. 4 แล้วยังหางานทำไม่ได้ ไม่ได้เรียนต่อ
เพื่อน เรียน ป.4 ของผมบางคนก็เลี้ยงควายอยู่หลายปี กว่าจะได้เรียนต่อ เวลาควายเขาผ่านหน้าบ้านมา บางทีผมก็ชอบวิ่งตามไปขึ้นขี่เล่น ขี่ตามเขาไปสักพัก แล้วก็กระโดดกลับบ้าน เพื่อนคนนี้ตอนนี้เป็นจ่าตำรวจอยู่แถวเชียงราย คงเกษียรเร็วๆ นี้แหละ
กอง อึของมัน เป็นแหล่งที่อยู่ของแมลงคือ "แมงกุ๊ดจี่" ที่ทางเหนือเรียก "ขี้หลอบ" ซึ่งตัวเล็กๆ ขนาดปลายนิ้วชี้ ตัวผู้มีเขาสองเขา พวกผมชอบเอามาใส่ในร่องดินเล็กๆ กว้างเท่าปลายนิ้วชี้ โดยใช้นิ้วกรีดไปในดินนิ่มๆ ลึกสุดปลายนิ้วเพื่อให้มันเดินได้ทางเดียว แล้วปล่อยให้มันเดินเข้าชนกัน พนันกันสนุกมาก แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ ชอบหามาเยอะๆ เอามาล้างแล้วคั่วกิน หรือเอามาตำน้ำพริก อร่อย

นี่ คือรูป ขี้หลอบ แบบที่ผมเคยกินที่เชียงใหม่ แต่ไปถ่ายรูปมาจากตลาดเช้าที่วังเวียงเมื่อต้นปีนี้(2010) เท่าที่ดู เห็นมีแต่ตัวเมีย เพราะมันไม่มีเขา เขาคงไม่กินตัวผู้เพราะหัวมันจะแข็ง มีเนื้อน้อยกว่า แต่ตอนผมไปขุดมันมาจากกองอึวัวควายเอามาชนกัน ตัวผู้จะมีหัวค่อนข้างใหญ่ มีเขายาวสองเขาซ้ายขวา รูปร่างมันสง่ามาก ดูเป็นนักสู้พร้อมชน เหมือนแมลงกว่างที่ทางเหนือก็ชอบชนกว่างพนันกัน

และ ยังมีแมงกุ๊ดจี่อีกแบบ ตัวใหญ่ขนาดหัวแม่เท้า เีรียกว่า "แมงขี้ซว่า" แบบนี้ชาวบ้านชอบไปขุดเอาตัวอ่อนที่ยังขาวๆ มากิน มันอยู่ในรังลึกใต้ดินประมาณครึ่งเมตร หรืออาจถึง 1 เมตร มันสร้างลูกบอลล์ด้วยขี้วัวลูกกลมๆ พอกไข่ไว้ ไข่มันอยู่ในโพลงลูกบอลล์ขี้วัวขี้ควายจนเจริญกลายเป็นตัวหนอน และกินขี้วัวมาจากด้านใน เมื่อโตระดับหนึ่งก็เปลี่ยนร่างจากตัวหนอนมาเป็นแมงกุดจี่เต็มตัว รูปร่างคล้ายตัวเล็กๆ ในรูป แต่มันใหญ่กว่า ช่วงเป็นตัวอ่อนจะสีขาว เต็มไปด้วยเลือดเนื้อที่สีขาวเหมือนนม นำมาแกงใส่ชะโอม อะหร่อยมาก
พวก เขาพาวัวควายไปเลี้ยงในทุ่งนาชายเขา หรือไปตามทุ่งหญ้านาร้างที่อยู่ในป่าิเชิงเขา เนื่องจากทหารมายึดพื้นที่แถวนั้นไปเป็นของทางราชการ ตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวบ้านดั้งเดิมจึงถูกขับไล่ให้ออกมาอยู่อีกฟากถนน หมู่บ้านเก่าเลยกลายเป็นทุ่งร้างในป่า (ช่วงสงครามโลก ทหารญี่ปุ่นเคยมาตั้งค่ายแทรกอยู่ในป่าตรงนี้ เพื่อพักทหารที่เดินทัพไปตีพม่าทาง อ. ปาย และรักษาคนที่ีบาดเจ็บกลับมา แต่เขาทำลายต้นไม้ไม่มาก แม่ผมก็ค้าขายอาหาร ขนม กับญี่ปุ่นในยุคนั้น)
บริเวณ ทุ่งนาชายเขาที่ชาวบ้านผมนำวัวควายไปเลี้ยงสมัยก่อน ทุกวันนี้บางส่วนยังเหลืออยู่ รูปนี้ถ่ายจากทางทิศเหนือของห้วยตึงเฒ่า ทหารไปสร้างหมู่บ้านแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองให้คนไปอยู่ใกล้ๆ เลยมีการใช้พื้นที่ทำนาอีกครั้ง มีไร่ทดลองใช้พื้นที่พอเพียงอยู่ไม่ไกล (ถ่ายปี 2008)
ส่วน ใหญ่พวกเลี้ยงควายจะไปเช้า เย็นกลับ วิวทุ่งนาตอนเย็นๆ สวยมาก ทางเดินชายป่าริมทุ่งมีฝูงวัวควายเดินเป็นแถว ข้างบ้านผมมีพ่อค้าวัวคนหนึ่ง ชื่อว่า "อ้ายส่ง" แกชอบซื้อวัวมาจากถิ่นไกลๆ ด้วยราคาถูกจำนวนหลายสิบตัว เอามาเลี้ยงหรือขุนสักพัก ก็ขายต่อเอากำไร ช่วงไหนที่ อ้ายส่งซื้อวัวมามาก ขบวนวัวไปกินหญ้าตอนเช้าและกลับตอนเย็นก็จะยาวมาก ตอนนี้ บ้าน "อ้ายส่ง" กลายเป็นตลาดสดเล็กๆ เป็นชุมชน ที่ทำมาหากินของชาวบ้านจำนวนไม่น้อย
นอก จากนั้น น้าชายผม และอ้ายส่งก็มีเกวียนคนละคัน เอาไว้รับจ้างบรรทุกของ เช่น เอาไปลากฟืนที่ตัดจากไม้ในป่ามาขาย รับจ้างบรรทุกใบตองตึงไปส่งตามที่ต่างๆ หรือใบยาสูบ ไปส่งโรงบ่มใบยา รับจ้างขนข้าวเปลือกจากทุ่งนา หรือบรรทุกฟางที่มัดแน่นกองสูงเลยกะบะเกวียนไปประมาณ 2 เมตรไปส่งโน่นนี่ เวลาเขาขับเกวียนไปตามถนน ดูเท่ห์มาก รถยนต์แถวนั้นยังหายากมาก มีแต่รถโดยสารผ่านไปแม่ริม ชาวบ้านผมไม่มีใครมี เกวียนกับรถสามล้อถีบคือพาหนะที่ดีมากแล้ว ผมก็นั่งรถสามล้อถีบไปเรียนในเมืองตั้งแต่ชั้น ป. 5 จน ม.ศ. 1 แม่จึงขายต่างหูทองคำไปซื้อจักรยานให้ผมขี่ไปเรียน
ผมเคยขึ้นไปนั่ง บนกองฟางบนเกวียนของน้าชายขณะวัวลากไปตามทางดินผ่านไร่นา สนุกและหวาดเสียวมาก ทางเกวียน ชาวบ้านเรียก "ตางล้อ" เป็นภาษาพื้นเมือง เป็นทางดินแย่กว่าดินลูกรังมาก เต็มไปด้วยรอยเท้าวัวและร่องล้อเกวียนที่แคบมาก บางแห่งลึกขนาดหน้าแข้งผู้ใหญ่ หน้าแล้งมันจะแข็งมาก ถ้าเดินเหยียบพลาดตกลงไปเท้าอาจแพลงบาดเจ็บได้ แม่ผมมีนาให้เช่าแบบ "กินค่าหัวนา(แบ่งข้าวเป็นค่าเช่า)" จำนวนหนึ่ง ห่างจากบ้านไป 2 กิโลเมตรกว่าๆ และต้องไปขนข้าวเปลือกค่าเช่าใส่เกวียนมาใส่ฉางข้าว ดังนั้น ทุกปี ผมต้องมีภาระกิจจ้างเกวียนไปขนข้าวนี้ และได้นั่งเกวียนเทียมวัวระยะไกลๆ
หน้านาบางทีพวกเลี้ยงควายก็ขี้ เกียจกลับบ้าน ก็สร้างห้างนา ล้อมคอกขังวัวควายไว้ริมป่า หรือกลางทุ่งนาร้างใกล้ที่นาของตน เพื่อจะได้ไถนาได้ง่ายๆ ไม่ต้องต้อนฝูงวัวควายกลับบ้านที่อยู่ไกลกว่า หาปูปลามาทำกับข้าวกินกันตรงนั้น ช่วงเรียน ป. 5 - ป. 7 ผมก็เคยไปร่วมหาปูปลาตามท้องนามาทำกับข้าวกิน หรือเดินเที่ยวกับ "บ่าอ้าย" เพื่อนคนเรียน ป.4 ด้วยกันที่ต้องเลี้ยงควายอยู่หลายปีกว่าจะได้เรียนต่อ สนุกมาก
เวลาเย็น หรือตอนเช้าตรู่ เคยพบเห็นฝูงหมาป่าหรือหมาจิ้งจอกหากินในนาไม่ไกลจากห้างนาบ่าอ้ายเท่าไรนัก แต่เห็นแว็บๆ วิ่งไปในกอต้นข้าวที่เขาปลูกแบบนาดำ สูงประมาณ 30 ซม. เวลากลางคืน แม้นอนอยู่ที่บ้าน บางครั้งผมจะได้ยินเสียงหมาจิ้งจอกที่มาหากินปูปลาตามท้องนาหลังบ้าน ส่งเสียงร้อง จุ๊กๆ ว้อ... เป็นเสียงร้องและหอนส่งสัญญาณของพวกมัน ชาวบ้านเลยเรียกพวกมันว่า "หมาผีจ๊อกวอ" ที่เรียกว่าหมาผีก็เพราะมันไวมาก พอเห็นคน มันจะวิ่งหนีหลบหายไปที่ไหนไม่รู้อย่างรวดเร็ว แต่บางครั้งชาวบ้านก็ไปเจอโพลงลูกของมันในป่าไม่ลึกมากนัก บริเวณค่าย ป. พัน 7 ปัจจุบันนี้แหละ ถ้าไปเดินตามท้องนาช่วงที่เขาปลูกข้าวใหม่ๆ จะเห็นรอยเท้าพวกมันชัดเจน ตอนนี้มันคงสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว
ที่นา แถวนั้นเป็นของทหาร แต่ยังปล่อยให้ชาวบ้านเช่าทำกินตามสิทธิ์ดั้งเดิม จนกระทั่งมาสร้างค่ายเพิ่มเติมต่อจาก กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 7 เมื่อประมาณ 20 กว่าปีมานี้ เขาจึงยึดที่นาไปหมด
พวกเลี้ยงวัวเลี้ยวควายนี้ต้อง หูแม่นมาก วัวควายจ่าฝูง และอีกอย่างน้อยสามสี่ตัวในฝูงของเขา จะแขวนกระดึงไว้ที่คอ เวลาพวกมันไปหากินหญ้าตามทุ่งหญ้าเล็กๆ ในป่า เขาจะรู้ตำแหน่งจากเสียงนี้ พวกเขามักหาที่นั่งพักใต้ร่มไม้ใหญ่ หาไม้ไผ่มาจักตอก สานโน่นนี่ เช่น กระบุง พัด กระจาด ฝาชี ไปด้วย เย็นมาถ้ายังทำไม่เสร็จก็มัดรวมกันสะพายหลังกลับไปทำต่อที่บ้าน ของจักสานพวกนี้เขาก็ขายบ้าง ทำใช้เองบ้าง ขณะนั่งทำงานหูก็คอยฟังเสียงกระดึงของฝูงตัวเองไปด้วย เขาจำแนกออกได้ว่า เสียงใหนคือกระดึงของเขาแม้จะมีของเจ้าอื่นอีกเยอะ ถ้าได้ยินว่ามันไปห่างมากเกินไป ก็จะลุกย้ายตามฝูงสัตว์ไปนั่งอยู่ใกล้ๆ มัน หรือไปต้อนมันกลับมา บางคนก็เดินหาของป่า ดักสัตว์เล็ก นกบ้าง ตุ่นบ้าง ตกปลาบ้าง ตามถนัด แต่ไม่ไกลจากฝูงสัตว์ของตัวเอง
ที่ต้องทำเช่น นั้นเพราะ มีพวกโจรลักวัวควาย ชอบแอบมาต้อนวัวควายที่ไม่มีคนเฝ้า หรือเผลอเรอ หนีไปตามเส้นทางในป่า และนำไปขายยังหมู่บ้านไกลๆ หรือเอาไปฆ่าในป่าแถวนั้นและแล่เอาเนื้อใส่กระสอบขนไปขายกันดื้อๆ
ตอน รู้ว่าวัวหรือควายหายเป็นฝูง 3-4 ตัวนี่ ตอนเป็นเด็กผมสนุกมาก เพราะคนเฝ้าก็จะรีบวิ่งกลับบ้านไปแจ้งผู้ใหญ่บ้าน เขาก็จะตีเกราะเคาะไม้ประชุมกัน แล้วระดมคนตามหา แบ่งทีมกันเดินตามรอยเท้าบ้าง ขี่จักรยานไปดักปากทางโน่นนี่บ้าง ทุกคนก็อยากเป็นฮีโร่ที่จะไปเจอวัวควายที่หายไป แข่งกันทำงาน มีการแบกปืน อาวุธกันด้วย
บางครั้งก็ปะทะกัน ยิงกันด้วยปืนแก๊ป น้าชายผมคนหนึ่ง ที่มักสะพายปืนแก๊ปไปด้วย บางครั้งก็ตามไม่ทัน หายจ้อย บางครั้งก็ไปเจอว่า ฝูงวัวควายมันเดินไปหากินในป่าลึกที่คนเฝ้าไปหาไม่เจอ ทั้งนี้เพราะเขาแอบหลับไปจนพวกมันเดินไปไกลมากๆ ไม่ได้ยินเสียงกระดึงที่ผูกคอพวกมันไว้ ก็เลยตามหาไม่เจอ
อีกทาง หนึ่ง เจ้าของวัวควาย ก็มักจะมาหาแม่ของผม ซึ่งเป็นคนทรงเจ้า และขอให้ "เจ้าพ่อ" ช่วยตาม หรือช่วยทักทายว่า พวกโจรมันต้อนวัวควายไปทางไหน จะได้ตามกันถูก บางครั้งก็ดูเหมือนจะแม่นมาก ตามเจอตามที่เจ้าพ่อทัก ได้สัตว์คืน พวกโจรมักหนีมากกว่าสู้ เขาก็จะเอาขนมนมเนยมาเซ่นไหว้เป็นการตอบแทน ผมก็จะได้กินขนมฟรีๆ พวกของหายชอบมาหาแม่ของผมมาก แม้กระทั่งจักรยานหาย สร้อย หรือแหวนทองคำหาย เขาก็มาถามเจ้าพ่อกัน
ไอ้ที่ดูสนุก มากอีกอย่างก็คือ คาราวาน หรือขบวนวัวต่าง ม้าต่าง รวมทั้งช้าง ที่มาจากเชียงตุง หรือมาจากหมู่บ้านชายแดนพม่า พวกนี้บรรทุกเมี่ยง ของป่า สินค้าพม่า มาส่งยังตัวเมืองเชียงใหม่ มาทีก็มีวัวหรือม้าต่างเป็นร้อยๆ ตัว พวกมาจากเชียงตุงก็จะผ่านเข้ามาทางเวียงแหง (ที่จัดงานคาวบอยเวียงแหงนั่นแหละ)
ลักษณะ "ต่าง" ที่ใช้ใส่ของบนหลังม้าหรือวัวในกองคารางาน จะคล้ายกับในรูปม้าต่างแถบยูนานปัจจุบันข้างล่างนี้มาก เพียงแต่คนแต่งกายต่างกัน แต่ตระกร้าเกือบจะหมือนกัน มีทั้งที่สานจากหวายอย่างดี และสานหยาบๆ จากไม้ใผ่ ซึ่งพวกนี้ใช้แล้วทิ้งเลยก็มี บางอันแลดูหยาบกว่าที่เห็นในรูปพวกนี้อีก คงสำหรับเดินทางระยะใกล้ คนที่เดินตาม หรือขี่ม้าตาม บางคนก็จะเหน็บมีดไว้ที่เอว ผมเคยเก็บมีดปลายแหลมยาวประมาณ 1 ฟุตได้เล่มหนึ่ง เป็นเหล็กดีมาก คมกริบ ผมเก็บไว้ใช้่ที่เชียงใหม่นานกว่า 30 ปี เพิ่งมาหายไประยะหลังๆ ตอนทีี่ผมไม่ค่อยมีเวลากลับบ้าน
เห็น รูปพวกนี้แล้ว ทำให้คิดถึงความหลังเมื่่อครั้งยังเด็กอย่างมาก ที่ผมชอบมองหาเป็นพิเศษในยุคนั้นก็คือ พู่สีสวยที่เขาใช้แต่งที่บังเหียนและหัวม้า บางขบวน พวกม้าจะมีการตกแต่งด้วยพู่สีต่างๆ สวยงามหลายตัว คงเป็นม้านำ หรือม้าตัวเก่งของเขา และยังมีพวงลูกกลมๆ ขนาดใหญ่ที่ร้อยไปที่หางของม้า บางตัวมีสีสรรสวยงาม ผมไม่รู้จนป่านนี้ว่า เขาใส่ไว้ทำไม ไม่เห็นม้าฝรั่งเขาใส่กัน หรือเพื่อป้องกันหางมันเลอะอึก็ไม่ทราบ
ภาพเหล่านี้นำมาจากเว็บไซต์ http://redrocktrek.com/ ซึ่งรับจัดการท่องเที่ยวแบบคาราวานผ่านเส้นทางขายชาจากจีนไปธิเบต คาดว่าภาพพวกนี้คงมีให้เห็นได้อีกไม่กี่ปีแล้ว



พวงลูกกลมๆ ที่หาง ไม่ทราบว่ามีไว้ทำไม เพื่อสวย หรือป้องกันอึเลอะหาง


พวก นี้คือนักเดินทางตัวจริง เขาเดินทางไปถึงจีน อินเดีย ขี่ม้าบ้าง เดินบ้าง ค่ำไหนก็พักแรมนั่น หน้าบ้านผมมีต้นไม้ใหญ่และป่าละเมาะ มีต้นไผ่และลานหญ้าในป่าละเมาะกว้างพอควร และยังมีลำธารแม่ชะเยืองผ่านออกมาจากชายเขาด้วย จึงเป็นชัยภูมิที่พักก่อนเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ที่ดีมาก มันห่าง 8 กม. เอง พวกเขาจึงมักมาตั้งค่ายพักแรมที่ใต้กลุ่มต้นไม้ฉำฉาและต้นมะขามขนาดใหญ่ที่ ร่มรื่นตรงข้ามบ้านผมพอดี บางคนก็แวะมาซื้อขนม หรืออาหารแห้งที่ร้านคุณตาผมไปกินด้วย ผมก็เลยได้เห็นชีวิตที่น่าตื่นเต้น วัวรูปร่างแปลกๆ ที่มี "ต่าง" อยู่บนหลังมัน บางตัวมีเขาแปลกๆ เป็นเขานิ่มๆ เรียกว่า "เขาหนัง หรือเขากล้วย"ขณะมันเดิน เขามันห้อยต่องแต่งลงข้างล่าง มันนิ่มๆ ไม่ยอมแข็งเหมือนเขาทั่วไป
ขบวนช้างก็ชอบแวะค้างคืนที่นี่ เพราะมีต้นไผ่ให้มันกินพอควร เคยเห็นเขาเอาเปลือกไม้มาทุบให้นิ่ม แผ่เป็นที่วางหลังช้างก่อนจะวาง "แหย่ง" คือเจ้ารูปร่างคล้ายเก้าอี้ที่ใส่ของบนหลังช้างนั่่นแหละ นอกนั้น ก็เคยเห็นเขาเอาน้ำพริกตาแดงทาแผลที่เกิดจากตะขอสับให้ช้าง เขาว่ามันเป็นยา ไม่รู้จริงหรือเปล่า หรือเป็นแค่ปากชาวบ้านว่าก็ไม่รู้ เพราะเห็นมันเป็นส่วนผสมหลายอย่าง มีสีแดงๆ เหมือนน้ำพริก แต่ผมไม่ได้เข้าไปถามตรงๆ ว่า ที่ชาวบ้านผมเขาว่าควานช้างใช้น้ำพริกตาแดงเป็นยาใส่แผลนั้น จริงหรือเปล่า มันน่าจะทำให้ช้างเจ็บ และอักเสบเนื่องจากพวกปลาร้า กะปิ มากกว่า
ส่ง ของเสร็จ พวกเขาก็เิดินทางกลับ ขนของจากในเมืองไปขายบ้านเขา ผ่านหน้าบ้านผมอีก ขบวนวัวต่าง ม้าต่างพวกนี้ บางทีก็ยาวมาก นานหลายนาทีกว่าจะผ่านบ้านผมไปได้หมด เด็กๆ ชาวบ้านจะตื่นเต้นพากันวิ่งมายืนดูในรั้วบ้านของตัวเอง ฝุ่นคลุ้งไปหมด ปีหนึ่ง มีผ่านมาไม่กี่ครั้ง ระยะหลังก็ห่างไปเรื่อยๆ และหายไป
จริงๆ แล้ว ก่อนหน้านั้น ไม่ใช่แค่มีพวกเมี่ยง และสินค้าอื่นที่ถูกกฎหมายเท่านั้น พวกนี้ยังแอบขนฝิ่นเข้ามาด้วย โดยห่อเป็นแท่งอัดแน่น ยัดมาในกรวยหรือกระบุงที่สานจากไม้ใผ่ทรงสูงที่แขวนข้างตัวม้าหรือวัวสำหรับ ใส่เมี่ยงบ้าง ใส่สินค้าอื่นบ้าง ตอนแรกผมได้ยินพวกผู้ใหญ่คุยกันว่า พวกนี้คือพวกคาราวานขนฝิ่น ฝิ่นที่เขาขนจะแพกมาอย่างดีด้วยใบตองหนามาก มัดแน่นหนา พวกเขามักเรียกแพคฝิ่นว่า "จ๊อ" และดูเหมือนน้ำหนักมันจะเป็นมาตฐานของพวกขนฝิ่น เพราะเขามักจะคุยกันว่า ม้าตัวหนึ่งบรรทุกกี่จ๊อ เช่น 3-4 จ๊อ
ระยะหลัง ทหารก็มาสร้างค่ายในป่าหน้าบ้าน ใช้รถ Buldozer ขุดต้นไม้ใหญ่น้อยทิ้ง ใช้เวลาเป็นปี กว่าจะถางป่าจนกลายเป็นที่ราบพอสร้างค่าย ป. พัน 7 ได้ ช่วงนั้น เช้ามา ก็มีแต่เสียงรถ bulldozer ชาวบ้านบางคน รวมทั้งผม และคุณตาของผม เคยไปนั่งดูมันโค่นต้นเหียง ต้นตึง กันนานครึ่งค่อนวัน หลายครั้ง แล้วก็มาคุยกันว่า มันแรงยิ่งกว่าช้างอีกนะ
หลังจากนั้น จุดพักแรมของพวกคาราวานก็เลยย้ายไปอยู่ที่อื่น ห่างไปทาง อ. แม่ริม อีก 1 กม. กว่าๆ เรียกว่า บ้านพระเจ้านั่งโก๋น หรือบริเวณข้างวัดโสภนารามปัจจุบัน
ระยะหนึ่ง มีญาติใกล้ชิดที่บ้านรุ่นน้องคนหนึ่ง เกเรมาก ทำกรรมไว้เยอะ อยู่ไม่ได้ มีคนตามกำจัดเยอะ พ่อแม่ก็เลยส่งไปอยู่กับนายทหารไทยใหญ่คนหนึ่งแถวเมืองแหง ซึ่งเคยเป็นทหารเก่าอยู่ค่ายหน้าบ้านและกลายมาเป็นคนสนิท เขากลับมาเล่าว่า ภาระกิจของเขาตอนอยู่กับกองทัพไทยใหญ่ก็คือ แบกปืน คุมคาราวานฝิ่น ที่มีกองทัพม้าต่าง แอบเดินตามเส้นทางภูเขา ผ่านเชียงดาว แม่แตง แม่ริม แม่สา เข้ามาส่งแถวดอยปุย
ผมเคยเห็นบ้านพักของ "อ้ายอู๋" ร้อยเอกกองทัพไทยใหญ่คนที่ญาติผมไปอยู่ด้วยนี้ มีบ้านพักหรูหราอยู่หมู่บ้านสันติธรรม ไม่ห่างจากโรงเรียนศิริมังคลานุสรณ์ที่ผมเรียนเท่าใดนัก ยุคผมขี่จักรยานไปเรียน จะขี่ผ่านหน้าบ้านหลังนี้ประจำ
ไม่กี่ปีจากนั้น ญาติของผมเขาก็กลับมาถูกคนฆ่าตายกลางทุ่งนาหลังบ้าน
เส้น ทางขนฝิ่นที่กล่าวถึงนี้ ขนานกับถนนเชียงใหม่-ฝาง แต่อยู่บนภูเขาตลอด ทอดยาวจากเวียงแหงยันดอยปุย ช่วงจากตำหนักภูพิงค์ถึงแม่สา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จพระราชดำเินินด้วยเท้าครั้งหนึ่ง เพื่อสำรวจพื้นที่ มีการอนุรักษ์อาคารที่พักระหว่างเส้นทางไว้บางแห่ง ไม่นานมานี้ ผมเคยเห็นมีสกู๊ปเชิดชูในหลวงทางทีวีไปถ่ายเส้นทางนี้ออกฉายทางทีวีครั้ง หนึ่ง จึงได้เห็นเส้นทางชัดๆ ในยุคปัจจุบัน
และ ช่วงที่เส้นทางนี้ผ่านลำห้วยแม่หยวก ซึ่งมีหินประหลาดรูปเรือ ชาวบ้านเรียก "บะหินเฮือ" มองจากบ้านผมขึ้นไปบนภูเขาจะเห็นอยู่ลิบๆ เคยเกิดการยิงปะทะระหว่างตำรวจกับกองคาราวานฝิ่นตอนผมเด็กๆ มีคนตายหลายคน
เฮ้อ เล่าแล้ว รู้สึกมันน่าตื่นเต้นเหมือนหนังสารคดีเส้นทางค้าใบชา จากยูนานไปธิเบต ที่ฉายทาง true cable tv เมื่อเร็วๆ นี้เลย ไม่น่าเชื่อว่า สิ่งที่เหมือนๆ กับที่ปรากฎบนสารคดี เราเคยเห็นด้วยตาตนเองตอนเป็นเด็ก
มันเป็น the good old days จริงๆ เดี๋ยวนี้ เส้นทางตำนานขนฝิ่น ตอนนี้ กลายเป็นเส้นทางเสือภูเขา ให้คนขี่ downhill จากดอยสุเทพไปห้วยตึงเฒ่าเสียแล้ว
< ย้อนกลับ |
---|
ความคิดเห็น
นี่คือการตอบแบบ อ้างอิง
นี่คือการตอบโดย อ้างถึง
๑๑๑๑๑๑๑นี่คือกา รทดสอบการวิจารณ ์หรือคอมเมนต์๑๑ ๑๑๑๑
ติดตามความเห็นนี้ในรูปแบบ RSS feeds