เทคนิคเบื้องต้นสำหรับโคบาลมือใหม่ในการคัดเลือกโคเนื้อมาเลี้ยง ตอนที่ 2 การประเมินลักษณะโค

วันศุกร์ที่ 06 มีนาคม 2015 เวลา 01:24 น. Ekkachai Boonchan วิถีชิวิตคาวบอย ศิลปะวัฒนธรรม อาวุธและเครื่องมือ - วิถีชีวิต,งานอาชีพ,ประเพณี Life & Traditions
พิมพ์
User Rating: / 0
แย่ดีที่สุด 

เทคนิคเบื้องต้นสำหรับโคบาลมือใหม่ในการคัดเลือกโคเนื้อมาเลี้ยง ตอนที่ 2 การประเมินลักษณะโคจากภายนอก (1)

Ekkachai Boonchan

March 5, 2015 at 9:24pm

เมื่อ เราทราบถึงลักษณะทางพันธุกรรมหรือลักษณะภายในบางประการที่มองไม่เห็นด้วยตา เปล่า แต่ทราบได้จากการจดบันทึกข้อมูลซึ่งมีความจำเป็นต่อการคัดเลือกโคแล้ว คราวนี้เราลองมาสำรวจลักษณะภายนอกที่ปรากฏกันดูบ้างซิว่ามีความสำคัญอะไร บ้าง แต่ที่แน่ๆลักษณะภายนอกจะมีความสำคัญต่อการไปเลือกซื้อโคในสถานที่ที่ไม่มี การจดบันทึกข้อมูลหรือตามตลาดนัดเป็นอย่างมาก เนื่องจากถ้าเราดูตัวโคไม่เป็นหรืออ่านตัวโคไม่ขาดก็อาจถูกหลอกให้เจ็บใจเอา ง่ายๆนะครับ

ปล. ขอขอบคุณเนื้อหาที่ดี ภาพประกอบที่สวยงาม จากครูบาอาจารย์และมิตรรักชาววัวทุกท่านทุกฟาร์มครับ

 

 

เมื่อ ทราบแล้วว่าตัวเรามีความพร้อมและความเหมาะสมที่จะเลี้ยงโคเนื้อรูปแบบใด ระดับไหนแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะสรรหาโคมาเลี้ยงสักที ส่วนใหญ่ก็จะไปซื้อหากันตามตลาดนัดของแต่ละท้องถิ่น เนื่องจากหาซื้อง่ายมีให้เลือกหลากหลาย แต่ก็มีความเสี่ยงอยู่พอสมควร ถ้าหากตัดสินใจว่าจะไปซื้อที่ตลาดนัดอย่างแน่นอนแล้ว ขอให้เก็บคำตอบไว้ในใจอย่าเพิ่งร้องบอกให้ใครได้ยิน เพราะเสียงสวรรค์ของเราจะเป็นดั่งกลิ่นหอมของเกสรดอกไม้ที่ลอยไปเชื้อเชิญ หมู่แมลงน้อยใหญ่อย่างพ่อค้าตามตลาดนัดหรือเจ้าของฟาร์มให้ถาโถมบินเข้า มาดอมดมอย่างรวดเร็ว จนเราตั้งตัวแทบไม่ทันและอาจสับสนกับข้อมูลที่ได้รับมาจริงบ้างเท็จบ้างตาม แต่โชคชะตาฟ้ากำหนด

 

 

ภาพ แรกที่มักเห็นพบจนชินตาเมื่อเดินทางไปถึงตลาดนัดก็คือ โคมากมายหลายสายพันธุ์ หลายรุ่น หลายอายุ ถูกผูกเอาไว้ตามใต้ร่มไม้ตามหลักตามเสา บ้างก็ยืนหน้ากระดานเรียงแถวอยู่บนหลังรถกระบะ หกล้อ หรือสิบล้อที่จอดอยู่เรียงราย พร้อมกับคำบรรยายสรรพคุณและการต่อรองราคากันอย่างออกรสออกชาติของบรรดาเหล่า นายฮ้อยทั้งหลาย อาจทำให้เราตาลายตัดสินใจเลือกแทบไม่ถูก สิ่งแรกที่เราควรทำเมื่อไปถึงตลาดนัด คือ "การตั้งสติให้อยู่กับเนื้อกับตัว ระงับกิเลสภายในจิตใจที่เกิดจากภาพที่อยู่ตรงหน้าและเสียงที่ได้ยินผ่านสองรูหูเอาไว้"  ถึงแม้ว่าโคที่อยู่ตรงหน้าจะมีรูปร่างลักษณะที่สวยงามเพียงไร หรือราคาข้อเสนอที่ได้รับมาจะถูกตาต้องใจสักแค่ไหนก็ตาม เพราะสิ่งที่เราเห็นอาจจะใช่หรือไม่ใช้อย่างที่เราคิดเสมอไปก็ได้ จงอย่าลืมว่าเราเพิ่งมาตลาดนัดได้ไม่กี่นาที เพิ่งมีโอกาสเห็นโคเหล่านี้เป็นครั้งแรก ไม่มีโอกาสรู้มาก่อนเลยว่าโคเหล่านี้เป็นลูกเต้าเหล่าใคร อายุเท่าไหร่ ให้ลูกมาแล้วกี่ตัว เป็นหมันหรือโรคแท้งติดต่อไหม และมีปัญหาอะไรมาก่อนหรือเปล่า

สิ่ง ที่อยู่ภายในเราอาจจะมองไม่เห็น ถึงแม้เราอยากจะเห็นแต่เจ้าของโคคงไม่ยอมแน่นอน เพราะถ้าหากเกิดอะไรขึ้นกับตัวโคเกรงว่าจะได้ไม่คุ้มเสียน่ะครับ แต่สิ่งที่เราพอจะประเมินได้ในเบื้องต้นก็คือ การสังเกตจากลักษณะภายนอกของโคแต่ละตัว ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของรูปร่าง โครงสร้าง อายุ น้ำหนัก การให้ลูก และความสมบูรณ์ของร่างกาย ยิ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์มากเท่าใดก็ยิ่งทำให้อ่านตัวโคออกและตัดสินใจได้ แม่นยำมากขึ้นเท่านั้น แถมได้โคที่มีราคาสมเหตุสมผล ส่วนเรื่องของระบบภายในนั้น ไม่ว่าจะอาการเป็นหมัน โรคแท้งติดต่อ หรือความผิดปกติต่างๆ ที่ไม่แสดงอาการให้เห็นในทันที อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความรู้ความชำนาญ และดวงใครดวงมันแล้วล่ะครับ เพื่อลดความเสี่ยงให้น้อยลงที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงใคร่ขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมกันพิจารณาโคที่เราต้องการนำมา เลี้ยงอย่างเข้มข้นไปพร้อมๆกันเลยครับ

การประมาณอายุโค

 

โดยปกติโคเนื้อในบ้านเราจะมีอายุเฉลี่ยประมาณ 15 – 20 ปี โคตัวผู้เริ่มใช้งานเป็นพ่อพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 2 ปี ขึ้นไปจนถึงอายุประมาณ 10 ปี ส่วนโคตัวเมียนั้นจะเริ่มให้ผสมพันธุ์ครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 2 ปี จนถึงอายุประมาณ 15 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลเอาใจใส่ ผู้เลี้ยงบางรายที่หมั่นคอยดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีอาจทำให้โคมีอายุการใช้ งานที่เร็วขึ้นและยาวนานขึ้นกว่านี้ก็ได้ หรือทำให้โคมีหน้าตาสภาพร่างกายที่ดูดีเกินวัย จนทำให้ผู้ที่พบเห็นเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโคสาวได้ ดังนั้นจึงมีการคิดค้นวิธีการประมาณอายุโคขึ้นมา เพื่อป้องกันการถูกหลอกเอาโคแก่มาสวมรอยขายเป็นโคสาว โคจะประมาณอายุได้ยากไม่เหมือนคน ถึงแม้ว่าคนจะไปทำศัลยกรรมหน้าเด้งมามากน้อยเพียงไรก็ไม่สามารถตบตาผู้คน ทั่วไปได้อย่างแน่นอน วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะประมาณอายุโคได้แม่นยำที่สุดและทำง่ายที่สุดคือ "การสังเกตจากการงอกและการสึกกร่อนของฟัน"

โคจะมีฟัน 2 ชุดเหมือนกับคน คือ ฟันน้ำนมและฟันแท้ แต่จะแตกต่างกันตรงที่โคจะมีฟันหน้างอกขึ้นมาเฉพาะส่วนล่างเท่านั้น ไม่มีฟันหน้าทั้งส่วนบนและล่างเหมือนกับคน ฟันหน้าส่วนล่างนี้เองเป็นส่วนสำคัญที่จะใช้ในการประมาณอายุโค จริงๆแล้วฟันกรามก็สามารถนำมาพิจารณาได้เช่นกัน แต่ในทางปฏิบัตินั้นค่อนข้างจะยุ่งยากและมองเห็นไม่ค่อยชัด จึงไม่เป็นที่นิยมแต่อย่างใด โดยที่ลูกโคแรกเกิดจะมีฟันน้ำนมคู่หน้าติดตัวมาด้วย 1 คู่ อยู่บริเวณตรงกลางโผล่ขึ้นมาเหนือเหงือกเล็กน้อย หลังจากนั้นไม่เกิน 1 เดือน ฟันน้ำนมที่เหลือจะทยอยงอกขึ้นมาทั้ง 2 ข้างซ้ายขวาจนครบ 4 คู่ในที่สุด ฟันน้ำนมทั้ง 4 คู่นี้จะอยู่ติดตัวลูกโคไปตลอดจนกระทั่งโคมีอายุได้ประมาณ 2 ปี ฟันน้ำนมคู่แรก(คู่กลาง) จะหลุดออกแล้วฟันแท้คู่แรกก็จะงอกขึ้นมาแทนที่ จากนั้นอีก 1 ปีถัดมา ฟันน้ำนมคู่ที่ 2 ซึ่งอยู่ขนาบข้างทางซ้ายและขวาติดกับฟันแท้คู่ที่ 1 จะหลุดออกแล้วฟันแท้คู่ที่ 2 ก็จะงอกขึ้นมาแทนที่ หลังจากนั้นฟันน้ำนมคู่ที่ 3 กับคู่ที่ 4 ก็จะทยอยหลุดออกและมีฟันแท้งอกขึ้นมาแทนที่ตามลำดับ โดยเว้นระยะห่างคู่ละประมาณ 1 ปี จนกระทั่งครบทั้ง 4 คู่อย่างสมบูรณ์

หลักการอ่านอายุจากฟันที่เข้าใจง่ายและจำง่ายที่สุดคือ "อายุของโค = จำนวนคู่ของฟันแท้ + 1" ยก ตัวอย่างเช่น สมมติว่าโคตัวหนึ่งมีฟันแท้งอกขึ้นมา 3 คู่ เอาจำนวนคู่ คือ 3 + 1 จะได้คำตอบว่าโคตัวดังกล่าวมีอายุประมาณ 4 ปี ส่วนจะอีกกี่เดือนนั้นให้สังเกตจากสีของตัวฟันและการสึกกร่อนของฟันแท้คู่ ที่ 3 ที่งอกออกมาหลังสุดว่ามีสีของหญ้าที่กินเข้าไปและการสึกกร่อนที่เกิดจากการ เคี้ยวบดหญ้ามากน้อยเพียงใด ถ้าหากโคตัวดังกล่าวได้เจริญเติบโตจนฟันแท้ขึ้นครบทั้ง 4 คู่แล้ว แสดงว่าขณะนั้นโคตัวดังกล่าวมีอายุไม่ต่ำกว่า 5 ปีขึ้นไป(มาจาก 4+1) พอถึงตอนนี้ก็จะเริ่มสับสนกันแล้วว่าโคมีอายุ 5 ปีหรือมากกว่านี้กันแน่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าวิตกแต่อย่างใด ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นก่อนหน้านี้แล้วว่าเราสามารถสังเกตได้จากการสึก กร่อนของฟันแท้คู่หน้าทั้ง 4 คู่ โดยถ้าฟันแท้คู่ที่ 4 ยังไม่สึกหรือมีรอยสึกเพียงเล็กน้อย หมายความว่าโคตัวนั้นเพิ่งจะมีอายุได้ 5 ปีเศษๆ แต่ถ้าหากพบว่าฟันแท้คู่หน้าทั้ง 4 คู่ มีลักษณะสึกมากหรือสึกจนติดเหงือกก็ให้ประเมินเบื้องต้นได้เลยว่าโคตัวดัง กล่าวน่าจะมีอายุอยู่ระหว่าง 10-15 ปี

ผู้ ที่ยังด้อยประสบการณ์อาจจะยังแยกแยะไม่ออกระหว่างฟันแท้กับฟันน้ำนม เมื่อเห็นฟันหน้าขึ้นครบทั้ง 4 คู่ ก็อาจจะฟันธงทันทีว่าเป็นโคสาวที่อายุยังไม่ถึง 2 ปี ทั้งที่โคตัวดังกล่าวอาจมีอายุไม่ต่ำกว่า 5 ปีก็ได้ เนื่องจากมองว่าโคมีขนาดตัวไม่ใหญ่บวกกับผิวพรรณที่ยังเปล่งปลั่งอยู่ เรื่องแบบนี้ต้องอาศัยประสบการณ์หมั่นคอยฝึกสังเกตฟันโคอย่างสม่ำเสมอ เราสามารถสังเกตและแยกแยะได้ง่ายๆ คือ ฟันน้ำนมจะมีขนาดเล็กกว่าฟันแท้ เนื้อฟันไม่แน่น สีของฟันคล้ายสีขาวของน้ำนม ส่วนฟันแท้จะมีขนาดใหญ่กว่า เนื้อฟันแน่นกว่า สีของฟันจะละเอียดกว่า ถ้าหากสังเกตแล้วพบว่ามีทั้งฟันแท้และฟันน้ำนมอยู่ด้วยกันก็จะสามารถช่วยให้ แยกแยะได้ง่ายขึ้น เนื่องจากฟันแท้จะมีขนาดใหญ่กว่าฟันน้ำนม 3 – 4 เท่าเลยทีเดียว และสีก็มีความแตกต่างกันชัดเจน แต่ถ้าเราสังเกตจากฟันแล้วยังไม่แน่ใจว่าโคมีอายุมากหรืออายุน้อย ก็ให้ดูหน้าตา รูปร่าง ผิวหนัง รวมถึงสภาพร่างกายมาประกอบการพิจารณาอีกทางหนึ่ง

การประมาณจำนวนลูก


เวลาไปเลือกซื้อโคตามตลาดนัด แน่นอนว่าหลายท่านต้องการโคที่ให้ผลผลิตดี ยิ่งให้ลูกสม่ำเสมอทุกปียิ่งดีเข้าไปใหญ่ แต่เราจะทราบได้อย่างไรว่าโคตัวใดเคยให้ลูกมาแล้วหรือว่ายังไม่เคยผ่านการ ให้ลูกมาก่อน เพราะอย่างที่เคยได้กล่าวมาแล้วว่าเราไม่ทราบที่มาที่ไปของโคเหล่านี้ บางตัวอาจเป็นหมันหรือระบบสืบพันธุ์มีปัญหา บางทีก็ถูกหลอกขายอ้างว่าโคท้องแต่พอเอามาเลี้ยงจนครบกำหนดคลอดกลับไม่มี อะไรเกิดขึ้น หรืออย่างโชคร้ายน้อยลงมาหน่อยแบบว่าพ่อค้ายังใจดีเมตตาปราณีเราอยู่บ้างก็ อาจเนรมิตใช้วิชาสลับแม่ลูกให้เป็นของแถม โดยที่จริงแล้วแม่โคตัวดังกล่าวไม่สามารถให้ผลผลิตได้ แต่เอาลูกของตัวอื่นมาสวมรอยแล้วบอกว่าโคคู่นี้เป็นแม่ลูกกัน ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ลูกเสียบ”


การ สังเกตว่าแม่โคกับลูกโคเป็นแม่ลูกกันจริงหรือไม่นั้น ให้สังเกตจากสัญชาตญาณความเป็นแม่และสภาพความเปลี่ยนแปลงภายนอกของแม่โค ในกรณีที่เพิ่งคลอดลูกใหม่ๆ แม่โคจะมีอาการหวงลูกไม่ยอมให้ใครเข้าใกล้นอกจากเจ้าของ แต่ก็มีบางตัวที่ใจดีไม่หวงลูก หรือแม่โคท้องแรกบางตัวที่เลี้ยงลูกไม่เป็นก็อาจทิ้งลูกได้ ถ้าแม่โคทำร้ายลูกหรือไม่สนใจลูกเลยก็ให้สงสัยไว้ก่อน จากนั้นให้พิจารณาที่บริเวณเต้านม แม่โคที่เลี้ยงลูกจะมีการสร้างน้ำนมและมีขนาดเต้านมสัมพันธ์กับอายุของลูกโค ถ้าลูกโคเพิ่งคลอดแม่โคจะต้องมีเต้านมที่เต่งตึงและมีหัวนมที่ขยายใหญ่กว่า ปกติ อันเนื่องมาจากถูกลูกโคกระตุ้นด้วยการดูดนม แต่ก็มีแม่โคบางตัวที่ไม่มีนมให้ลูกกินเรียกว่า อาการแห้งนม ซึ่งก็พบไม่มากนัก อีกจุดหนึ่งที่ควรสังเกตคือ อวัยวะเพศ ถ้าแม่โคตัวดังกล่าวมีขนาดของอวัยวะเพศที่เล็ก ไม่ปรากฏลักษณะที่บ่งบอกว่าเคยผ่านการให้ลูกมาก่อน ทั้งที่เพิ่งคลอดลูกใหม่ๆ อวัยวะเพศก็ต้องมีขนาดใหญ่ขึ้นมาบ้าง กอปรกับมีเต้านมที่เล็กแสดงถึงการไม่เคยผ่านการให้ลูกมาเลยก็ให้สงสัยไว้ ก่อน ซึ่งหากไม่มีความรู้ในเบื้องต้นจะทำให้เสียโอกาส เสียเวลา เสียความรู้สึก และเสียค่าโง่แบบน่าเจ็บใจ สิ่งที่เราพอจะสังเกตได้ว่าแม่โคให้ลูกมากี่ตัวแล้วและสม่ำเสมอหรือไม่ คือ "การสังเกตจากรอยคอดบริเวณเขา" ส่วนกรณีไปเจอโคที่ไม่มีเขาก็ต้องวัดดวงกันแล้วล่ะครับ

แม่ โคที่ผ่านการให้ลูกในแต่ละครั้งนั้นจะเกิดรอยคอดเป็นรูปวงแหวนขึ้นมาที่ บริเวณรอบวงเขาทุกครั้ง ครั้งละ 1 วง ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าแร่ธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่ในเวลาปกติแม่โคจะนำ มาใช้ในการเสริมสร้างกระดูกและเขาให้กับตัวมันเอง ได้ถูกดึงมาใช้ในการสร้างกระดูกและน้ำนมสำหรับลูกโค แร่ธาตุดังกล่าวจึงมีปริมาณไม่เพียงพอที่จะสร้างเขาให้สมบูรณ์


นอก จากรอยคอดบนเขาจะบอกถึงจำนวนการให้ลูกแล้ว ยังสามารถบอกได้อีกว่าแม่โคตัวดังกล่าวให้ลูกสม่ำเสมอหรือไม่ โดยจะสังเกตได้จากความถี่ห่างของรอยคอดแต่ละวง คือ ถ้ารอยคอดแต่ละวงมีระยะห่างที่เท่าๆกัน แสดงว่าแม่โคให้ลูกสม่ำเสมอทุกปี ในทางกลับกันถ้าหากรอยคอดแต่ละวงมีระยะห่างไม่สม่ำเสมอกัน มีห่างบ้างถี่บ้าง แสดงว่าบางปีแม่โคก็ให้ลูกบางปีก็ไม่ให้ลูกเว้นช่วงไป แม่โคที่เพิ่งจะให้ลูกไม่กี่ตัวสามารถมองเห็นรอยคอดได้อย่างชัดเจน ส่วนแม่โคที่เริ่มมีอายุมากแล้วจะสังเกตรอยคอดวงแรกๆได้ยาก เนื่องจากบริเวณปลายเขาเริ่มมีการสึกกร่อนตามกาลเวลา

การตรวจโรคแท้งติดต่อ (Brucellosis)

 

โรคแท้งติดต่อเป็นโรคติดต่ออีกโรคหนึ่งที่สำคัญมากต่อวงจรการผลิตโค เพราะว่าติดต่อได้ง่ายโดยการสัมผัส การกินเมือก น้ำลาย น้ำนม หรือสารคัดหลั่งที่บริเวณอวัยวะเพศ อาหารและน้ำที่มีเชื้อปะปนอยู่ และการผสมพันธุ์ โรคนี้สามารถติดต่อสู่คนได้ เมื่อเป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ ยิ่งไปซื้อวัวตามตลาดนัดยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากในแต่ละนัดจะมีโคมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก โอกาสเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อจึงมีสูง โคที่ป่วยจะไม่แสดงอาการใดๆปรากฏออกมาให้เห็นเลย โดยที่ลักษณะภายนอกยังคงปกติเหมือนเดิมทุกประการ ในโคเพศเมียจะมีการแท้งลูกขณะที่ตั้งท้องได้ประมาณ 5 – 7 เดือน วิธีสังเกตง่ายๆคือ ลูกโคที่แท้งออกมาจะมีอวัยวะครบถ้วนสมบูรณ์ แต่จะยังไม่มีขนงอกขึ้นมาเลย แม่โคที่มีภูมิต้านทานมากพอจะไม่แท้งลูก แต่จะทำหน้าที่เป็นตัวพาหะแพร่กระจายเชื้อได้เป็นอย่างดี


ส่วน โคเพศผู้นั้นก็จะไม่แสดงอาการใดๆ ปรากฏออกมาให้เห็นเช่นกัน ยกเว้นตัวที่ได้รับเชื้ออย่างรุนแรงก็จะแสดงอาการลูกอัณฑะบวมอักเสบและมี ขนาดใหญ่ผิดปกติอย่างชัดเจน เราสามารถตรวจหาเชื้อได้โดยการเจาะเลือดตรวจสอบเบื้องต้น หรือส่งไปตรวจวิเคราะห์ยังหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง


ตาม หลักสากลที่ปฏิบัติโดยทั่วไปจะนิยมทำเครื่องหมายเพื่อใช้แยกแยะระหว่างโคที่ ปลอดโรคแท้งติดต่อกับโคที่ยังไม่เคยผ่านการทำวัคซีนหรือตรวจหาเชื้อโรคดัง กล่าว ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคแท้งติดต่อ เครื่องหมายดังกล่าวก็คือ การเจาะหูให้เป็นรูวงกลมติดกันจำนวน 2 รู ที่บริเวณขอบใบหูข้างขวาของโคที่ผ่านการทำวัคซีนป้องกันโรคแท้งติดต่อมาแล้ว โดยปกติจะนิยมทำวัคซีนป้องกันโรคแท้งติดต่อเฉพาะในโคเพศเมียตั้งแต่อายุ 3 – 8 เดือน การทำวัคซีนเพียงครั้งเดียวสามารถคุ้มโรคได้นานถึง 7 ปี หรือเกือบตลอดชีวิตเลยก็ว่าได้ ส่วนโคเพศผู้โดยเฉพาะพ่อพันธุ์นั้นจะไม่นิยมทำวัคซีน เพราะจะมีผลต่อการผลิตน้ำเชื้อ บางครั้งเมื่อเราทำการเจาะเลือดโคที่ซื้อเข้ามาใหม่ส่งตรวจ โคที่ผ่านการทำวัคซีนมาแล้วบางตัวอาจแสดงผลบวกเหมือนกับโคที่เป็นโรคได้เช่น กัน ซึ่งจริงๆแล้วผลดังกล่าวเกิดจากภูมิต้านทานที่ตัวโคสร้างขึ้นมาเอง ทางที่ดีควรสังเกตดูที่บริเวณขอบใบหูข้างขวาว่ามีรอยเจาะ 2 รู อยู่หรือไม่ โดยสามารถขอคำปรึกษาและใช้บริการได้ที่เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ โรงพยาบาลสัตว์ใกล้บ้าน หรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องตามแต่สะดวกเลยครับ

By.....COWBOY 62

จะมีสักกี่ครุยที่ลุยโคลน...Stockmanship